ประวัติโรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี
โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานีเป็นสถานศึกษาที่จัดการศึกษาปฐมวัยและการศึกษาขั้นพื้นฐาน จัดตั้งขึ้นภายใต้กรอบแนวคิดการเป็นต้นแบบด้านการพัฒนาคุณภาพการเรียนรู้ของนักเรียนด้วยนวัตกรรมที่พัฒนาขึ้นโดยความร่วมมือระหว่างโรงเรียนสาธิตฯและคณะ สาขาวิชาหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งในและนอกมหาวิทยาลัย
โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี ตั้งอยู่เลขที่ 2 ถนนราชธานี ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี รหัสไปรษณีย์ 34000 สังกัดกระทรวงการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมภายใต้การกำกับดูแลของมหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี
พ.ศ. 2489 รัฐบาลได้มีโครงการที่จะเปิดโรงเรียนฝึกหัดครูขึ้นในจังหวัดอุบลราชธานี และพิจารณาเห็นว่าบริเวณพื้นที่โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาอุบลราชธานีมีทำเลที่เหมาะสม จึงได้จัดตั้งโรงเรียนฝึกหัดครูอุบลราชธานี(ชาย) และเริ่มเปิดทำการสอนครั้งแรก เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2491 โดยมีนายประสิทธิ์ สุนทโรทก เป็นหัวหน้าสถานศึกษาคนแรก
พ.ศ. 2495 นายเสนอ นาระคล ศึกษาธิการจังหวัดอุบลราชธานี ได้ขออนุญาตกระทรวงศึกษาธิการจัดตั้งโรงเรียนประชาบาลขึ้นในโรงเรียนฝึกหัดครูอุบลราชธานี(ชาย) 1 โรง ชื่อโรงเรียนเทพพรหมภูมิ เปิดสอนหลักสูตรชั้นประถมศึกษา ปี พ.ศ. 2507 กรมการฝึกหัดครู รับโอนโรงเรียนและเปลี่ยนชื่อเป็น โรงเรียนสาธิตวิทยาลัยอุบลราชธานี(เป็นที่ตั้งอาคาร 7 คณะบริหารธุรกิจและการจัดการในปัจจุบัน) โรงเรียนสาธิตแห่งนี้ได้ดำเนินการสืบเนื่องมาจนถึง ปี พ.ศ. 2522 จึงได้ยุบเลิกไป โดยย้ายนักเรียน ชั้น ป.6 – 7 (รวมทั้งทรัพย์สินบางส่วน) เรียนที่โรงเรียนอุบลวิทยาคม
พ.ศ. 2541 มีผู้ช่วยศาสตราจารย์วิชิต ประสมปลื้ม ซึ่งดำรงตำแหน่งคณบดี ในขณะนั้นได้สนับสนุนให้เกิดโครงการ“ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กสถาบันราชภัฏอุบลราชธานี” โดยมีผู้ช่วยศาสตราจารย์วยุภา สุขอู๊ด เป็นผู้ริเริ่มโครงการได้เห็นถึงความสำคัญต่อการศึกษาทุกระดับจากเดิมที่มีเฉพาะอุดมศึกษาประจวบกับนักศึกษาฝึกประสบการณ์วิชาชีพครูมีความต้องการทดลองฝึกประสบการณ์วิชาชีพครูตลอดจนสาธิตรูปแบบการเรียนการสอนให้เป็นไปด้วยความสะดวกตลอดจนวิจัยปัญหาทางการศึกษาทุกด้าน โดยใช้อาคารเรียนรวมเป็นอาคารเรียนหลังแรกและสามารถเปิดทำการได้ เมื่อเดือนมิถุนายน 2542 ต่อเนื่องจากระดับปฐมวัย เพื่อจัดการศึกษาตามความต้องการของผู้ปกครองและบุคคลากรภายในสถาบันราชภัฏอุบลราชธานีโดยใช้อาคารเรียนรวมเป็นอาคารเรียนหลังแรก ผู้ดำรงตำแหน่งหัวหน้าศูนย์ฯ คนแรกคือ อาจารย์จิตรา ชนะกุล ในปีแรกที่เปิดสอนมีนักเรียนชั้นอนุบาลปีที่ 1 จำนวน 30 คน ชาย 17 หญิง 13 คน ต่อมาในปี พ.ศ. 2543 เปิดรับนักเรียนเพิ่มเติมอีก 1 ห้อง รวมนักเรียนทั้งหมด 52 คน ในภาคเรียนที่ 2/2543 อาจารย์จิตรา ชนะกุลได้ย้ายไปช่วยราชการที่สถาบันราชภัฎราชนครินทร์ ผู้ช่วยศาสตราจารย์วยุภา สุขอู๊ด จึงดำรงตำแหน่งหัวหน้าศูนย์ ฯ ปี
พ.ศ.2545 ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กสถาบันราชภัฏอุบลราชธานี มีนักเรียนครบทั้ง 3 ระดับ คืออนุบาลปีที่ 1,2, และ 3 ซึ่งปีนี้ศูนย์พัฒนาเด็ก มีนักเรียนครบทั้ง 3 ระดับ คือ อนุบาลปีที่ 1,2 และ 3 ซึ่งปีนี้ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กสถาบันราชภัฏอุบลราชธานีได้งบประมาณการก่อสร้างอาคารเรียนชั้นอนุบาล 3 จำนวน 1 หลังใช้งบประมาณทั้งสิ้น 6,085,000 บาท ต่อมาในปี พ.ศ. 2547 ผู้ช่วยศาสตราจารย์วยุภา สุขอู๊ด ย้ายไปดำรงตำแหน่งหัวหน้าสำนักงานคณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี ต่อมาอาจารย์นงนุช เพชรบุญวัฒน์ ดำรงตำแหน่งหัวหน้าศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ฯ
พ.ศ. 2549 ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กสถาบันราชภัฏอุบลราชธานีได้รับเด็กบริบาลเป็นครั้งแรก โดยรับเด็กอายุ 2-2 ปี 11 เดือน มีนักเรียนทั้งสิ้น 26 คน
พ.ศ. 2551 ศูนย์พัฒนาเด็กได้บรรจุ หัวหน้าศูนย์ คืออาจารย์ผกาวรรณ ทีทอง โดยได้เริ่มปฏิบัติงานวันที่ 3 มิถุนายน 2551
พ.ศ.2552 ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อารี หลวงนา ซึ่งดำรงตำแหน่งคณบดีคณะครุศาสตร์ ในขณะนั้น ได้ศึกษาดูงานโรงเรียนสาธิตหลายแห่ง เพื่อปรึกษาหารือร่วมกับผู้ปกครองและคณาจารย์ คณะครุศาสตร์ รวมทั้งสำรวจความต้องการในการเปิดโรงเรียนในระดับประถมศึกษา เพื่อตอบสนองต่อความต้องการของผู้ปกครองและชุมชนที่ต้องการให้นักเรียนได้มีที่เรียนต่อจากระดับปฐมวัย ใช้เวลาในการเตรียมการ 4 ปี (ปี 2552- ปี 2556) มีเจตนารมณ์ที่จะให้โรงเรียนแห่งนี้เป็นห้องปฏิบัติการใหม่ของนักศึกษาและคณาจารย์ คณะครุศาสตร์ โดยคณาจารย์สามารถเดินเข้าออกโรงเรียน นำปรัชญาความเชื่อและนวัตกรรมใหม่ ๆ ที่ได้ค้นพบ ใช้กับนักเรียน โดยตรง และนำเอาความรู้ที่ได้รับไปเผยแพร่ในโรงเรียนอื่นต่อไป นักเรียนสามารถเดินเข้าออกคณะครุศาสตร์ ใช้ห้องเรียน ห้องปฏิบัติการร่วมกับพี่ ๆ นักศึกษา เป็นผู้นำและเด่นด้านภาษาต่างประเทศ เป็นฮาร์วาร์ดน้อยที่จะสานฝันนำสิ่งที่เป็นสมรรถนะตัวตนของเด็กออกมาให้มากที่สุด มีโครงการจัดตั้งโรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี ศูนย์วิจัยและพัฒนา โดยใช้อาคาร 31 เป็นห้องเรียนระดับประถมศึกษา ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กจึงได้ยกระดับเป็นโรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี
พ.ศ. 2556 สภามหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี ในการประชุมครั้งที่ 1/2556 ประกาศจัดตั้งโรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี วันที่ 27 มีนาคม พ.ศ. 2556 โดยได้รับความเห็นชอบจากสภามหาวิทยาลัยเมื่อวันที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2556 ได้ขอเปลี่ยนชื่อจาก ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก เป็น “โรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี” เปิดชั้นการเรียนระดับประถมศึกษา เมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2556 โดยอาจารย์ ดร.รสวลีย์ อักษรวงศ์ รักษาราชการแทนผู้อำนวยการโรงเรียนสาธิตฯ ผู้ช่วยศาสตราจารย์วยุภา สุขอู๊ด และอาจารย์สุกัญญา นุตโร รักษาราชการแทนรองผู้อำนวยการโรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี ทั้งนี้ได้รับการสนับสนุนเป็นอย่างมากจาก ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ประชุม ผงผ่าน ( อธิการบดีในขณะนั้น) สนัสนุนด้านงบประมาณ อาคารเรียนและห้องปฏิบัติการต่าง ๆ
พ.ศ. 2558–2560 โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยราชภัฎอุบลราชธานีผู้ดำรงตำแหน่งรักษาราชการแทนผู้อำนวยการ คือ อาจารย์ ดร.ณรัช ไชยชนะ ปี พ.ศ.2560-2562 มี ร.ศ.ดร.จิณณวัตร ปะโคทัง รักษาราชการแทนผู้อำนวยการโรงเรียน
พ.ศ. 2562-2564 โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยราชภัฎอุบลราชธานี ผู้ดำรงตำแหน่งรักษาราชการแทนผู้อำนวยการโรงเรียน คือ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ณัฐกิตต์ สวัสดิ์ไธสง มีรองผู้อำนวยการฝ่ายอนุบาล คือ อาจารย์ผกาวรรณ ทีทอง รองผู้อำนวยการฝ่ายประถมศึกษา คือ ผู้ช่วยศาสตราจารย์เศวตาภรณ์ ตั้งวันเจริญ และรองผู้อำนวยการฝ่ายมัธยมศึกษา คือ อาจารย์วรรณภา โคตรพันธ์ ซึ่งได้เปิดรับนักเรียนชั้นอนุบาล จำนวน 6 ห้องเรียน ระดับประถมศึกษาปีที่ 1 – 6 จำนวน 10 ห้องเรียน และได้เปิดรับนักเรียนระดับมัธยมศึกษาปีที่ 1 - 4 ระดับละ 1 ห้องๆละ 30 คน จำนวน 4 ห้องเรียน รวมจำนวนนักเรียนทั้งสิ้น 583 คน
พ.ศ. 2564 - ปัจจุบัน โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยราชภัฎอุบลราชธานี ผู้ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการโรงเรียน คือ ดร.ถวัลย์ สุนทรา มีรองผู้อำนวยการฝ่ายอนุบาล คือ อาจารย์สุภาพร ดวนใหญ่ รองผู้อำนวยการฝ่ายประถมศึกษา คือ อาจารย์ศศิธร บุญไพโรจน์ และรองผู้อำนวยการฝ่ายมัธยมศึกษา คือ อาจารย์พณณกร การินทร์ ซึ่งได้เปิดรับนักเรียนชั้นอนุบาล จำนวน 6 ห้องเรียน ระดับประถมศึกษาปีที่ 1 – 6 จำนวน 11 ห้องเรียน และได้เปิดรับนักเรียนระดับมัธยมศึกษาปีที่ 1 - 5 ระดับละ 1 ห้อง ๆ ละ 30 คน จำนวน 5 ห้องเรียน รวมจำนวนนักเรียนทั้งสิ้น 643 คน